เป็นโรคหัวใจ ทำไมต้องรีบรักษา“ถ้าฉีดสีตรวจเส้นเลือดหัวใจแล้วพบว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ ยังไม่ต้องขยายเส้นเส้นเลือดได้หรือเปล่าคะ/ครับ” เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยครั้ง ในการสนทนากับผู้ป่วยหรือครอบครัวของผู้ป่วยขณะให้ข้อมูลและคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนตรวจ
ก่อนอื่น… เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่การทำงานของหัวใจกันก่อน หัวใจของคนเราก็เปรียบเสมือนเครื่องปั๊มน้ำที่ต้องทำงานตลอดเวลาไม่เคยได้หยุดพัก นั่นหมายความว่าหัวใจต้องทำงานหนักตามอายุที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย หากทางเดินของน้ำที่เครื่องปั๊มหรือหัวใจแจกจ่ายไปอยู่ในสภาพที่เริ่มมีสนิม มีตะไคร่น้ำเกาะ ทำให้ทางเดินถูกกีดขวาง การไหลของน้ำไม่คล่องหรือมีการตีบแคบมาก ทำให้น้ำใหลไปได้ไม่ดี ไม่พอต่อการใช้งาน ตัวเครื่องหรือหัวใจ อาจต้องออกแรงหรือต้องทำงานหนักมากขึ้น มีผลทำให้หัวใจโตหรืออ่อนล้าได้
สาเหตุหรือปัจจัยอื่นที่มีผลให้เส้นเลือดหัวใจตีบมีหลายสาเหตุด้วยกัน ที่เห็นได้ชัดๆ คือ หลอดเลือดแดงแข็ง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในผนังของหลอดเลือด จากการมีคราบไขมันมาเกาะตามผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดขรุขระและตีบแคบจนถึงตันในที่สุด ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุ กรรมพันธุ์ บุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ความเครียด ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น โดยอาการแสดงของโรคหัวใจมีหลายอย่าง และ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคหัวใจมักไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย ทำให้คิดว่าทำไมต้องรักษาโรคหัวใจ
เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติทางหัวใจ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น เหงื่อแตก หน้ามืดเหมือนจะเป็นลม จุกแน่นกลางอก เจ็บหน้าอก เหมือนถูกอะไรกดทับ อาการเจ็บอาจร้าวไปบริเวณ คอ สะบัก กราม หรือแขน ควรต้องเข้ารับการตรวจรักษาทันที หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวได้ กลุ่มที่มีอาการดังกล่าวแพทย์อาจแนะนำให้รีบทำการตรวจสวนหัวใจ หากตรวจพบว่าเส้นเลือดหัวใจเริ่มมีการตีบแคบแต่ยังไม่มากนักหรือไม่เกิน 70% แพทย์จะรักษาโดยให้ยา เพื่อควบคุมและช่วยลดความเสี่ยงในการตีบของเส้นเลือดหัวใจ หากตรวจพบว่าเส้นเลือดหัวใจตีบเกินกว่า 70 % การรักษาที่เหมาะสมควรได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ
โดยการใช้บอลลูนถ่างขยายและใส่ขดลวดค้ำยัน เพื่อป้องกันการกลับมาตีบซ้ำภายในเส้นเลือด หากยังไม่มีอาการหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจควรได้รับการตรวจเช็คสมรรถภาพทางหัวใจ เช่น การวิ่งสายพาน หรือการทำอัลตราซาวด์หัวใจ กรณีตรวจแล้วแพทย์พบความผิดปกติ แนะนำให้รับการตรวจเพิ่มเติม ควรรับการตรวจตามที่แพทย์ให้คำแนะนำถึงแม้ว่ายังไม่มีอาการแสดง หรืออาการผิดปกติในการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม การรักษาทางการแพทย์ การทานยาและพบแพทย์ตามนัด ยังคงต้องควบคู่ไปกับการปรับแบบแผนการดำเนินชีวิตประจำวันให้เหมาะสม เช่น หยุดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมอาหารไม่ให้ระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือดสูง ควบคุมน้ำหนัก มีการออกกำลังกายที่เหมาะสม แบ่งเวลาทำกิจกรรมกับครอบครัวเพื่อผ่อนคลายความเครียด เท่านี้ก็จะช่วยประคับประคองสุขภาพของหัวใจให้แข็งแรง พร้อมที่จะทำหน้าที่ของหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยาวนานขึ้น